"วอลโว่" เล็งนำเข้า EVจีน-มาเลย์

รับภาษี0%...ไม่เกิน3ปีเจอกัน

                                              ที่มาของข่าว : http://www.thansettakij.com/content/408287

 

วอลโว่ คาร์ ประกาศทำตลาด “อีวี” ในไทยตามค่ายรถหรูอื่นๆ ด้วยการสั่งจากโรงงานจีนหรือมาเลเซีย รับภาษีนำเข้า 0% ด้านเจ้าตลาด “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ยัน FTA จีน-อาเซียน ไม่กระทบแผนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ส่วนนายกสมาคมอีวีชี้ นำเข้าจีนช่วยบูมตลาด และเปิดโอกาสไทยเป็นฐานส่งออกในยุคสงครามการค้าโหด

รถหรูสัญชาติสวีเดน “วอลโว่” หลังได้เจ้าของใหม่ “จีลี่” ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากจีน สถานการณ์ธุรกิจกลับมาอยู่ในเส้นทางที่ควรจะเป็นอีกครั้ง ทั้งยอดขายและผลกำไรกลับมาเป็นบวกในช่วง 4-5 ปีหลัง

สำหรับเมืองไทย เมื่อปรับโครงสร้างพร้อมปูพรมโปรดักต์ยุคใหม่ บนแพลตฟอร์ม SPA และ CMA พร้อมเครื่องยนต์บล็อกใหม่ รวมถึงขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด ส่งผลให้ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง หรือผ่าน 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.- ก.ค.) ทำได้ 1,252 คัน โต 94.7% ซึ่งเป็นตัวเลขการขายที่มากกว่ายอดขายของทั้งปี 2561 ที่ทำได้1,200 คัน

รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือเอสยูวี XC40 ครองสัดส่วน 49% จากการขายทั้งหมด ตามด้วย XC60, XC90 และ S90 ซึ่ง 3 รุ่นหลัง ยอดขาย 90% มาจากขุมพลังปลั๊ก-อินไฮบริด ถือว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของบริษัทแม่ที่สวีเดนเคยประกาศว่า ในปี 2025 รถยนต์วอลโว่ 50% ที่วางขายจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ปลั๊ก-อินไฮบริด,อีวี)

ส่วนเมืองไทย “วอลโว่ คาร์” เปิดเผยชัดเจนว่า จะทำตลาด “อีวี” แน่นอน เพียงแต่ยังไม่ใช่ช่วง 1-2 ปีนี้ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะนำเข้ามาจากประเทศจีนหรือมาเลเซีย ที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน และอาฟต้า ตามลำดับ

“ช่วง 1-2 ปีนี้ อาจเร็วไปที่จะพูดถึงอีวี แต่เราต้องนำเข้ามาทำตลาดในไทยตามนโยบายของบริษัทแม่แน่ๆ ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงพูดคุยว่าจะนำเข้ามาจากจีนหรือมาเลเซีย” นายคริส เวลส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

วอลโว่ได้องค์ความรู้จากจีลี่ มาเต็มๆในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งจีนเป็นฐานผลิตอีวีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก พร้อมการสนับสนุนของรัฐบาลยอดขายรถประเภทนี้จึงเติบโตต่อเนื่อง

“เมื่อถึงเวลาที่วอลโว่เปิดตัวอีวี ประเทศไทยจะมีความพร้อมในด้านระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้า อันหมายรวมถึงสถานีชาร์จไฟครอบคลุมแล้ว” นายคริส เวลส์ กล่าว

 

ด้าน ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเปิดเผยว่า จากข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA ไทย - จีน ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาภาษีเป็น 0% ซึ่งกรณีนี้มองว่าไม่ได้กระทบกับผู้ผลิตค่ายอื่นๆที่มีแผนลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย โดยมองว่าเป็นการช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยซํ้า

“ยกตัวอย่าง ‘เอ็มจี แซดเอส อีวี’ ที่เบื้องต้นอาจจะทดลองตลาดก่อน และหากการตอบรับดี รวมไปถึงภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนต่างๆที่จูงใจก็อาจจะมีแผนผลิตในไทย เพราะปัจจุบันเอ็มจีก็มีโรงงานในไทยอยู่แล้ว”

รถที่นำเข้าจากจีน โดยใช้สิทธิประโยชน์ของ FTA แม้จะนำเข้า 0% แต่ก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีก 8% ดังนั้นมองว่าไม่ได้เปรียบ หรือผู้เล่นอื่นๆจะเสียเปรียบอะไร

ดร.ยศพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA ไทย-จีน ยังเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทย เพราะปัจจุบันจีนและสหรัฐอเมริกามีปัญหาสงครามการค้า ทำให้ผู้ผลิตบางเจ้าจากจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยแล้วทำการส่งออกไปยังยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการส่งกลับไปยังจีนก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะตลาดในจีนถือว่าใหญ่มาก และไทยก็ได้ใช้ประโยชน์จาก FTA ไทย - จีนเช่นเดียวกัน

ด้านนายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส - เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนงานจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีกหลายรุ่น หนึ่งในนั้นคือรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับโรงงานแบตเตอรี่ในไทย ตอนนี้ทุกอย่างยังเดินหน้าตามแผนงานที่ได้วางไว้ ส่วนการที่ผู้เล่นบางรายมีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาจากจีนและได้สิทธิประโยชน์ FTA นั้น ไม่ส่งผลกระทบใดๆ กับบริษัทที่ตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

“ในกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งที่สุดเกี่ยวกับรถยนต์ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริดหรือแม้แต่อีวี ซึ่งโรงงานแบตเตอรี่ที่เราได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก บีโอไอ ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ประกอบกับปัจจัยพื้นฐาน โครงสร้างต่างๆของไทยยังดี ทำให้เรามั่นใจในประเทศไทย”นายโรลันด์ กล่าว 


Visitors: 105,196